แนะนำตัวเอง

วันศุกร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2553

มาประดิษฐ์ดอกมะลิวันแม่กันเถอะ

การประดิษฐ์ดอกไม้ทั้งดอกไม้แห้งและดอกไม้สดถือเป็นการฝึกให้ผู้กระทำมีจิตใจที่เป็นสมาธิ เพราะในขณะที่ประดิษฐ์อยู่นั้นจิตใจจะจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำ จนลืมความทุกข์ และช่วยลดปัญหาความเครียดลงไปได้ . . และเเนื่องในวันแม่ที่จะมาถึงนี้ ลองมาประดิษฐ์ดอกมะลิผ้าไหมสัญลักษณ์วันแม่มอบให้ “แม่” ซึ่งถือเป็นงานอดิเรกประดิษฐ์ของไทยๆ ที่จะทำให้เกิดความสุขใจในขณะที่ทำเพราะลูกๆ ได้แสดงความกตัญญูต่อคุณแม่ สุขใจทั้งผู้ให้และผู้รับ .. ถ้างั้นเราไปลงมือประดิษฐ์ดอกมะลิให้แม่กันเลยค่ะ
  อุปกรณ์ที่ใช้ในการประดิษฐ์ดอกมะลิวันแม่ ประกอบไปด้วย          - ผ้าไหมเนื้อละเอียดสีขาว, ผ้าไหมเนื้อละเอียดสีเขียวอ่อน, ลวดชนิดอ่อนสีขาว และสีเขียว
          - ผงสีสีเหลือง และเขียว กระดาษสาสีเขียวอ่อน กระดาษแข็ง
          - สำลี กาวลาแท๊กซ์ เข็มกลัด
          - กรรไกร พู่กัน หัวแร้ง
          – น้ำสะอาด จาน หรือถาดสะอาด ดินสอ
          - ฟองน้ำทาปิดด้วยผ้าไหมสีขาวทำเป็นเบาะรองขณะกดหัวแร้ง

 เมื่ออุปกรณ์พร้อมเริ่มลงมือทำดอกมะลิกันได้เลยก่อนอื่นต้องเตรียมกลีบดอกไม้มะลิเป็นขั้นตอนแรก
    
          1. กลีบดอกมี 3 ขนาด คือ ขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ให้นำกระดาษแข็งมาตัดเป็นแบบ มีกลีบทั้งหมด 7 กลีบ เมื่อได้แบบทั้ง 3 ขนาดแล้ว นำแต่ละแบบไปทาบบนผ้าไหมด้วยการพับผ้าไหมหลายๆ ทบแล้ววางแบบลงไป แล้วใช้กรรไกรตัด ใช้กรรไกรตัดให้ได้ขนาดและรูปทรงเช่นเดียวกับแบบ  
          2. เมื่อได้กลีบมะลิทั้ง 3 ขนาดแล้วให้นำไปย้อม โดยใช้ผงสีสีเหลืองผสมกับน้ำจนได้สีที่ต้องการ แล้วนำกลีบดอกผ้าไหมสีขาวชุดน้ำสะอาด นำไปวางบนจาน ใช้พู่กันตกแต่งกลีบดอกไม้ด้วยสีเหลืองให้พอมีสีออกนวลๆ นำไปผึ่งแดดจนแห้ง
          3. จากนั้นนำกลีบดอกขนาดกลาง 2 กลีบ มาประกบคู่แล้วทากาวเชื่อมติดกัน เพื่อเพิ่มความหนาของกลีบดอก แล้วจึงนำกลีบดอกขนาดใหญ่มาจับคู่ทากาวเช่นเดียวกัน วางทิ้งไว้จนแห้ง นำหัวแร้งมากดที่ปลายกลีบ โดยวางกลีบไว้บนฟองน้ำนุ่มแล้วค่อยๆ ใช้หัวแร้งกดที่ปลายกลีบแต่ละกลีบ จนปลายกลีบงอเข้ากันสวยงาม
หลังจากเตรียมกลีบดอกเสร็จก็มาทำดอกมะลิ กันต่อ           1. ดอกมะลิที่ใช้ในการประดิษฐ์มีอยู่ 5 ขนาด คือ ดอกตูม ดอกแย้มเล็ก ดอกแย้มใหญ่ ดอกกลาง ดอกใหญ่ เพื่อการนำมาเข้าช่อด้วยกัน วิธีการทำมะลิขนาดต่างๆ เริ่มทำตั้งแต่ ดอกตูม ก่อน นำลวดสีขาวมาหักงอส่วนปลายเป็นตะขอ แล้วนำสำลีผสมกาวเล็กน้อยมาปั้นเป็นก้อนกลมๆ เล็ก เรียกว่า “ปั้นตุ้ม” ปั้นไปเรื่อยๆ จนได้ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เซนติเมตร นำกลีบขนาดเล็กเจาะรูตรงกลางมาเข้าดอก ด้วยการทากาวที่ด้านในของดอก แล้วกดกลีบดอกให้แนบติดกับปั้นตุ้มจนเป็นทรงกรม

          2. เมื่อได้ขนาดดอกตูมแล้ว วางทิ้งไว้ ลงมือดอกแย้มเล็กด้วยการปั้นตุ้มเหมือนขั้นตอนแรกแต่เพิ่มขนาดของกลีบดอกเข้าไป เช่น ดอกแย้มเล็ก ให้ใช้กลีบขนาดเล็ก 1 กลีบ กลีบขนาดกลาง 2 กลีบ ดอกแย้มใหญ่ ให้ใช้กลีบขนาดเล็กสุด 1 กลีบ กลีบขนาดกลาง 4 กลีบ ดอกกลาง ใช้กลีบขนาดเล็ก 1 กลีบ กลีบขนาดกลาง 5 กลีบ แต่กลีบด้านดอกสุดให้ใช้หัวแร้งกดด้านนอก เพื่อให้กลีบดอกบานออกดูสวยงาม สำหรับ ดอกใหญ่ ใช้กลีบขนาดเล็ก 1 กลีบ ขนาดกลาง 4 กลีบ และขนาดใหญ่ 2 กลีบ เวลาประกบกลีบดอกซ้อนเข้าไปควรทากาวเชื่อมระหว่างกลีบดอกทุกๆ ดอกขณะซ้อนกลีบ เพื่อไม่ให้กลีบดอกแยกออกจากกัน แต่เพื่อความสวยงามและเหมือนดอกมะลิจริง กลีบดอกใหญ่กลีบหนึ่งใช้หัวแร้งกดด้านนอก เพื่อให้กลีบดอกบานออกดูสวยงาม
          3. เมื่อได้ดอกมะลิตามต้องการ 5 ขนาดแล้ว ทำการทำกลีบเลี้ยงติดที่ฐานดอกของแต่ละดอก โดยนำผ้าไหมสีเขียวตัดเป็นเส้นเล็กๆ ยาวๆ ดึงเส้นด้ายของผ้าออกด้านหนึ่งให้เป็นปลายลุ่ยพอประมาณ นำมาพันด้านล่างของกลีบดอก โดยให้ปลายที่ลุ่ยออกจากผ้าอยู่ด้านบน พันจนแน่นพอประมาณ ทากาวเชื่อมกลีบเลี้ยงให้ติดกับกลีบดอก วางพักไว้
ขั้นตอนต่อไป คือ การเตรียมใบ         
          1. ตัดกระดาษแข็งเป็น “แบบ” ของใบ ซึ่งควรมีทั้งหมด 5 ขนาด จากนั้นนำผ้าไหมสีเขียวอ่อนมาพับทบกันให้ได้ขนาดตามแบบ แล้วใช้กรรไกรตัดผ้าออกเป็นใบๆ
          2. ย้อมใบด้วยการนำใบผ้าไหมมาชุบน้ำสะอาด วางไว้บนจาน จากนั้นใช้พู่กันจุ่มสีเขียว (ผงสีเขียวผสมน้ำ) นำมาระบายที่ขอบใบโดยเว้นเส้นตรงกลางใบเพียงเล็กน้อย นำไปผึ่งแดดจนแห้ง
          3. เมื่อใบแห้งดีแล้ว นำลวดที่พันดอกกระดาษย่นสีขาวมาติดที่ตรงกลางใบ พักไว้ ทากาวบนใบด้านที่ติดลวดตลอดทั่วทั้งใบ จากนั้นนำกระดาษสามาปิดทับลงบนใบ วางทิ้งไว้จนกาวแห้ง ตัดขอบกระดาษสาให้ได้ขนาดเท่าขอบใบ แล้วจึงใช้หัวแร้งปลายแบน รีบตกแต่งให้ขึ้นเส้นใบพองาม
และขั้นตอนสุดท้าย คือการเข้าช่อดอกมะลิ           1. เมื่อได้ดอกมะลิและใบมะลิครบถ้วนแล้ว ขั้นต่อไป คือการนำดอกมะลิมาจัดเรียงเข้าช่อให้สวยงาม ราวกิ่งมะลิธรรมชาติ โดยการนำดอกมะลิดอกใหญ่มาพันก้านด้วยกระดาษสาสีเขียวอ่อน จากนั้นเติมใบที่เหมาะกับดอกเพิ่มเข้าไป พร้อมกับต่อก้านด้วยเส้นลวดอ่อนอีก 1 เส้น แล้วจึงพันกระดาษสาทับเส้นลวดต่อไปเรื่อยๆ เป็นการเพิ่มความยาวให้ก้านของดอกหลัก

          2. ผู้ประดิษฐ์สามารถเติมดอกมะลิขนาดต่างๆ แทรกลงไประหว่างใบต่างๆ ตามต้องการและตามความสวยงามและความคิดสร้างสรรค์ โดยทั่วไปนิยมจัดดอกมะลิในแต่ละช่อตามจำนวนเลขคี่ เช่น 3 ดอก 5 ดอก เป็นต้น
          3. หลังจากประดิษฐ์ช่อดอกมะลิผ้าไหมเรียบร้อยแล้ว ผู้ประดิษฐ์สามารถออกแบบการจัดวางช่อดอกมะลิ ตามจินตนาการเพื่อประโยชน์ในการใช้สอย เช่น การใส่เข็มกลัด เพื่อไปประดิษฐ์ตกแต่งเสื้อ หรือปักรวมกันไว้ในแจกัน 
          เมื่อได้ดอกมะลิที่ประดิษฐ์ด้วยฝีมือตัวเองแล้วก็นำไปมอบให้กับ “คุณแม่” เพื่อแสดงความกตัญญูและรู้คุณ ซึ่งก็ถือมีคุณค่าทางใจและเกิดความสุขใจแบบพอเพียง ผสมกับการทำตัวเป็น “ลูกที่ดี” และเป็น “คนดี” ของคุณพ่อคุณแม่เพียงเท่านี้ก็น่าชื่นใจแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น